ไก่เท้าบวม หรือหน่อไก่ เกิดจากสาเหตุใด

โรคเท้าบวมในไก่นี้ มีหลายชื่อเรียก เช่น หน่อไก่ลงพื้น ตาปลา โรคตีนหน่อ เป็นต้น มักพบได้เสมอ เรียกได้หลายชื่อตามแต่ละท้องถิ่น หรือเรียกอย่างสากลว่า Pododermatitis วันนี้แอดมินจะพามาทำความรู้จักโรคนี้กัน ลักษณะอาการเป็นอย่างไร และถ้าเป็นแล้วจะมีวิธีรักษาอย่างไร มารู้จักโรคนี้ไปพร้อมๆกันค่ะ…

ไก่เท้าบวม หรือหน่อไก่ เกิดจากสาเหตุใด

ลักษณะอาการของโรคเท้าบวมในไก่ หรือ หน่อไก่

เท้าไก่หรือตีนไก่ และอุ้งใต้นิ้ว จะมีอาการบวมแดง หรือมีการตกสะเก็ดสีดำหรือสีน้ำตาล  ลักษณะเหมือนตาปลา ไก่จะเริ่มแสดงอาการเจ็บ ไม่ค่อยเดินหรือลงน้ำหนักลงบนตีนข้างที่เป็นหน่อ บางตัวอาจเป็นหนองร่วมด้วย หากไม่รีบทำการรักษาไก่อาจจะตายได้เนื่องจากการติดเชื้อ สามารถแพร่กระจายเข้าสู่เนื้อเยื่ออื่นๆ และเข้ากระดูกได้ค่ะ

สาเหตุเกิดจากอะไร

มีหลายสาเหตุที่ทำให้เท้าไก่บวมได้ สาเหตุหลักๆเกิดจาก โดนสิ่งมีคมขีดข่วน เหยียบหนาม เดินบนพื้นที่เปียกแฉะ ไม่สะอาด การบินลงจากที่สูง หรือโรคอ้วนในไก่ ได้รับบาดเจ็บจากการคุ้ยเขี่ยหาอาหาร การติดเชื้อโดยตรงจากขี้ไก่ เป็นต้น และมักพบกับไก่ที่เลี้ยงขังกรง เนื่องจากพื้นกรงหรือคอกที่แข็ง หรือทำจากวัสดุที่สามารถทำให้บาดเจ็บได้ง่าย เช่น ตาข่ายพลาสติกแข็ง กรงเหล็ก เป็นต้น

การที่เท้าไก่มีบาดแผล ทำให้เกิดรอยแยกเข้าสู่ผิวหนังด้านในและติดเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกชื่อสกุลสแตฟฟิโลคอคคัส ได้ (staphylococcus) ซึ่งจะทำให้เท้าไก่ของเราบวมและมีหนอง อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้รับการรักษา จะทำให้เท้าไก่ติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อโรคไปตามกระดูกและเอ็น เกิดความเจ็บปวดและไก่อาจจะตายได้ในที่สุดค่ะ

วิธีการรักษา

1.) รอดูอาการ หลังจากที่ไก่มีอาการเดินกะโผลกกะเผลก ควรตรวจสอบ
เท้าไก่ว่ามีร่องรอยของมีคม หรือ มีอาการบวมที่บริเวณฝ่าเท้าไก่หรือไม่

หากมีอาการดังกล่าว ให้รีบจำกัดพื้นที่ไก่ โดยให้ขังไว้ และให้ยาฆ่าเชื้อละลายน้ำ เช่น เบต้าไมซินกินต่อเนื่อง 3-5 วัน และฆ่าเชื้อแผลด้วยยาแดง (เบตาดีน) วันละ 2-3 ครั้ง สถานที่ขังไก่ ควรเป็นสถานที่แห้ง สะอาดค่ะ

2.) หากทำการรักษาเบื้องต้นแล้ว ไก่อาการไม่ดีขึ้น เราควรส่งไก่ให้กับสัตวแพทย์ที่อยู่ใกล้เคียงทำการผ่าตัดเท้าและจัดยา แต่หากเราอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และไม่มีแพทย์เฉพาะทาง เราควรเตรียมอุปกรณ์ดังต่อไปนี้ :
1. เบตาดีน (ยาแดง)
2. วิตามินผสมน้ำ (แก้เครียด)
3. ด็อกซี่ซอล (ยาแก้อักเสบ)
4. ผ้ากอซ (ไว้พันแผลหรือซับเลือด)
5. มีดคมๆ หรือคัตเตอร์
6. แอลกอฮอล์ (ไว้ทำความสะอาดมีด)
7. ไมโครพอร์ (เทปกาวติดแผล)
8. แหนบ (สำหรับดึงหนามออก)
9. ถ้วยใส่น้ำ (สำหรับแช่เท้าไก่ให้นุ่ม)
10. ถุงมือยาง

11. กรรไกร

ขั้นตอนการผ่าตัดเท้าไก่

1.) แช่เท้าไก่ในน้ำอุ่น 2-3 นาทีหรือจนกว่าจะแน่ใจกว่าเท้าไก่นุ่มขึ้นแล้วเทแอลกอฮอล์ลงบนเท้าไก่เพื่อล้างเชื้อโรคออกไป

2.) ล้างมีดด้วยแอลกอฮอล์ และกรีดบริเวณรอบๆ สะเก็ดดำ ให้ห่างจาก

สะเก็ดดำเล็กน้อย

3.) ซับเลือดไก่ และควรเช็ดมีดด้วยแอลกอฮอล์ทุกครั้ง

4.) หาเศษหนาม หรือชิ้นส่วนด้านในเท้าไก่ที่เราผ่า ว่ามีชิ้นส่วนไหน
แปลกปลอมบ้าง และดึงออกด้วยแหนบ หากด้านในเท้าไก่มีหนอง

ควรบีบหนองออกให้หมด และหาชิ้นส่วนแปลกปลอม ทำการดึงออก

5.) ล้างแผลด้วยเบตาดีน (ยาแดง)

6.) ปิดแผลด้วยผ้ากอซ

7.) ละลายด็อกซี่ซอลรวมกับวิตามินละลายน้ำแก้เครียด เช่น ไวต้าเวทให้

ไก่กินต่อเนื่อง 3-5 วัน และยังต้องจำกัดพื้นที่ไก่เหมือนเดิม

8. หมั่นล้างแผลไก่ทุกวัน จนกว่าอาการจะดีขึ้นแล้วปล่อยไก่สู่อิสระค่ะ

หมายเหตุ : ภายในคอกไม่ควรเปียก ชื้นแฉะ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เท้าไก่เป็นหนองได้ ควรหมั่นทำความสะอาดคอกบ่อยๆ และพื้นควรโรยด้วยแกลบหนาพอประมาณ  หรือควรเปลี่ยนวัสดุรองพื้นบ่อยๆ ค่ะ
————————————
ติดตามสาระน่ารู้เกี่ยวกับการเลี้ยงไก่ไข่ได้ที่เว็บไซต์
https://ฟาร์มไก่ไข่พัชรี.com
สนใจไก่ไข่สาว สอบถาม/สั่งซื้อ ได้ที่เพจเฟสบุ๊ค
https://www.facebook.com/ThaiEggs
ฟาร์มไก่ไข่พัชรี มุกดาหาร

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *