เลี้ยงไก่ไข่บนบ่อปลา ประโยชน์ 2 ต่อ

ในยุคที่ข้าวของราคาแพง ประชาชนนั้นต่างมีการปรับเปลี่ยนแบบแผนกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ในอาชีพของตนเอง เช่นเดียวกับ การเลี้ยงไก่ไข่ บนบ่อปลา เป็นการลดต้นทุนสำหรับการประกอบอาชีพทางด้านการเกษตรรูปแบบการทำเกษตรผสมผสาน กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะช่วยลดความเสี่ยงต่อการขาดทุนจากอาชีพใดอาชีพหนึ่ง มีวิธีการทำอย่างไรนั้น มาดูกันเลยค่ะ…

การเลี้ยงไก่ไข่บนบ่อปลา เกษตรกรจะต้องมีแหล่งน้ำสำหรับเลี้ยงปลา มีแหล่งวัตถุดิบที่จะใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ อย่างเพียงพอและมีราคาถูก มีแรงงานและเงินทุนหมุนเวียนสำหรับใช้ในการเลี้ยงอย่างเพียงพอ รวมทั้ง ต้องมีตลาดรองรับผลผลิตของทั้งสองกิจกรรมอย่างชัดเจน

ขั้นตอนในการลงทุนและเลี้ยง

1. พันธุ์ไก่ไข่

สำหรับสายพันธุ์ไก่ไข่นั้น เกษตรกรมือใหม่ สามารถหาพันธุ์แท้ อาทิเช่น พันธุ์โร๊ดไอแลนด์ บาร์พลีมัทร็อค หรือ สายพันธุ์ผสมอย่าง ไก่ไข่ไฮบริด ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ให้ไข่ฟองโต ไข่ดก ทนทานโรค และสีเปลือกตรงตามความต้องการของตลาด มาเลี้ยง แต่ต้องหาซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ตามตลาดสัตว์ และ สำหรับพันธุ์ปลาที่ใช้เลี้ยงนั้น ควรจะเป็นปลากินพืช ได้แก่ ปลานิล หรือ ปลานิลร่วมกับ ปลาสวาย ก็ได้ และไม่ควรเลี้ยงพวกปลากินเนื้อ รวมอยู่ด้วย

2. โรงเรือนและอุปกรณ์

สำหรับโรงเรือนขนาด 20-100 ตารางเมตร จะได้ไก่ไข่ประมาณ 200-300 ตัว บนบ่อปลาขนาด พื้นที่ 1 ไร่ซึ่งจะเลี้ยงปลานิลได้ประมาณ 3,000-4,000 ตัว โรงเรือนไก่ไข่ต้องสามารถป้องกันแดด ฝน และ ลมโกรก พื้นเล้าควรสูงจากระดับน้ำ 1-1.5 เมตร และมีช่องให้มูลไก่หล่นลงในบ่อได้ ภายใน โรงเรือนต้องมีอุปกรณ์ให้น้ำและให้อาหารอย่างเพียงพอ โดยใช้สัดส่วน 4-5 ถังต่อไก่ 100 ตัว และต้องมี รังไข่ 1 รังต่อไก่ไข่ 4 ตัว ในกรณีที่เลี้ยงแบบกรงตับจะต้องมีกรงตับสำหรับเลี้ยงไก่ไข่

3. การจัดการเลี้ยงดู

ควรเริ่มด้วยการนำไก่ไข่สาว ขนาดอายุ 16-18 สัปดาห์ (ฉีดวัคซีนครบตามโปรแกรม) มาเลี้ยงในคอกบนบ่อปลาซึ่งปล่อย ปลากินพืช อาทิ ปลานิลขนาด 3-5 เซนติเมตร โดยนำไก่มาเลี้ยงหลังการเตรียมบ่อและน้ำมีสีเขียวแล้ว การให้อาหารไก่ไข่จะใช้อาหารสำเร็จรูปที่มีจำหน่ายทั่วไป หรืออาจลดต้นทุนด้วยการผสมอาหารใช้เองจากวัตถุดิบ ที่มีในท้องถิ่น โดยอาหารที่ให้ต้องมีโภชนาการตามที่ไก่แต่ละระยะต้องการ นั่นก็คือ อาหารต้องมีโปรตีนอย่างน้อย 17-18% และจะต้องให้อาหารอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ (ไก่ไข่จะกินอาหารประมาณ 100-120 กรัมต่อตัวต่อวัน) และต้องมีน้ำสะอาดให้กินตลอดเวลา เพราะเป็นการเลี้ยงระบบเปิด จะทำให้อากาศร้อนกว่าปกติ

ในส่วนของอาหารปลานั้น โดยหลักการผสมผสานและพึ่งพิงกัน ปลาจะอาศัยมูลไก่ และ เศษอาหารที่ตกหล่นลงในบ่อรวมทั้งอาหารตามธรรมชาติในบ่อ เช่น แพลงก์ตอน ตะไคร่น้ำ และแมลงต่างๆ ในระยะที่ปลายังเล็กอยู่อาจต้องมี การเสริมอาหารข้นบ้าง เพื่อช่วยให้ลูกปลาแข็งแรง ไก่ไข่จะเริ่มให้ไข่เมื่ออายุประมาณ 20 สัปดาห์ขึ้นไป ใน 1 ปี แม่ไก่สามารถให้ไข่ไก่ได้ ประมาณ 250-280 ฟองต่อตัวต่อปี และจะปลดระวางไก่ไข่หลังจากเริ่มไข่แล้ว ประมาณ 1 ปีครึ่ง (หรือ 18 เดือน หรือพบว่าให้ผลผลิตต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของไก่ทั้งหมด) ส่วนการจับปลาจำหน่ายจะเริ่มคัดปลาที่มี ขนาดใหญ่ออกจำหน่าย เมื่อมีอายุได้ประมาณ 4-5 เดือนเป็นต้นไป

4. การควบคุมและป้องกันโรค

สำหรับไก่ไข่ต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคระบาดที่สำคัญตามโปรแกรมที่กำหนดได้แก่ วัคซีน ป้องกันโรคนิวคลาสเซิล โรคหลอดลมอักเสบ โรคอหิวาต์และโรคฝีดาษ

ต้นทุนและผลตอบแทน

สำหรับไก่สาว จำนวน 300 ตัว ในโรงเรือนขนาด 100 ตารางเมตร บนบ่อเลี้ยงปลานิลที่มีพื้นที่ 1-2  ไร่ และปล่อยปลานิล จำนวน 4,000 ตัว

1. ต้นทุน ค่าโรงเรือน อุปกรณ์ ค่าพันธุ์ไก่ไข่และปลานิล ค่าอาหาร ค่าวัคซีนและเวชภัณฑ์ รวมมีต้นทุนประมาณ 180,000-190,000 บาท ต้นทุนนี้จะลดลงในการเลี้ยงปีต่อๆ ไปเนื่องจากไม่ต้องลงทุน ในเรื่องโรงเรือน และอุปกรณ์อีก

 2. ผลตอบแทน จะได้จาก

1) การจำหน่ายไข่ไก่ ไก่ 300 ตัว จะได้ไข่เฉลี่ยวันละ 250 ฟองต่อวัน ราคาจำหน่ายในราคาฟองละ 3 บาท (ขึ้นอยู่กับราคาปลีก-ส่ง)คิดเป็นเงิน 750 ต่อวัน (22,500บาท/เดือน) ใน 1 ปีจะได้เงินจากการขายไข่ ประมาณ 270,000 บาท (ยังไม่หักต้นทุนค่าอาหาร)
2) การจำหน่ายไก่ปลดระวาง จำนวน ประมาณ 250-300 ตัว ในราคาตัวละ 50 บาท คิดเป็นเงิน ประมาณ 12,500 – 15,000 บาท
3) การจำหน่ายปลา จำนวนประมาณ 1,200 กิโลกรัม ในราคากิโลกรัมละ 30-70 บาท  (ขึ้นอยู่กับราคาปลีก-ส่ง) คิดเป็นเงิน 36,000-84,000 บาท

อย่างไรก็ตามต้นทุนและผลตอบแทนดังกล่าว จะเปลี่ยนแปลงไปตามแหล่งที่เลี้ยง สภาวะการ ตลาด และขนาดของการผลิต โดยเฉพาะราคาพันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์ และราคารับซื้อผลผลิตที่แตกต่างกัน ดังนั้น ก่อนการตัดสินใจเลือกเลี้ยง เกษตรกรจะต้องศึกษาข้อมูล และรายละเอียดให้ชัดเจนเสียก่อน

การเลี้ยงไก่ไข่บนบ่อปลา เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ง่าย และไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่มากมาย แต่จะต้องมีการจัดการเลี้ยงดูที่มีความเอาใจใส่ในเรื่องของโรงเรือนที่อยู่ของไก่ไข่ และบ่อปลา เรื่องของอาหารที่จะต้องมีคุณค่าทางโภชนาการอย่างมาก เพื่อส่งผลไก่ไข่มีสุขภาพที่ดีและให้ผลผลิตที่ดีสม่ำเสมอ รวมถึงปลาในบ่อที่อาศัยมูลไก่ อีกทั้งเรื่องของการป้องกันโรคที่จะต้องมีการคำนึงถึงความปลอดภัยของคนเลี้ยงและสัตว์ทั้งหมดในฟาร์มที่จะต้องจัดการว่าแผนให้มีการฆ่าเชื้อ และฉีดวัคซีนอยู่ตลอด ดังนั้นการจะเลี้ยงไก่ไข่ บนบ่อปลานั้นไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่คุณจะต้องทำการศึกษาข้อมูลให้ได้มากที่สุดและนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ค่ะ

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *